ข้อบกพร่องในชิ้นงานชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน 2
กลับมาอีกครั้งกับภาคต่อ ของหัวข้อ "ข้อบกพร่องในชิ้นงานชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (Defects of Hot Dip Galvanised Product)" เช่นเดิม CCM ได้รวบรวมปัญหาที่มักพบบ่อยๆ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้สังกะสีในการเคลือบ พร้อมทั้งบอกถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นๆ เพื่อช่วยให้ท่านหาทางแก้ไขได้ในที่สุดค่ะ
วันนี้มาพบกับอีก 4 ปัญหาเพิ่มเติมที่พบบ่อย ได้แก่
ผิวไม่เรียบเสมอกัน / เป็นรอยทางไหลของน้ำสังกะสี
- เกิดจากการยกชิ้นงานออกจากบ่อชุบด้วยอัตราเร็วที่เร็วเกินไป ทำให้ระยะเวลาที่สังกะสีส่วนเกินไหลกลับลงบ่อชุบน้อยเกินไป จนเกิดส่วนเกินตกค้างอยู่บนชิ้นงานซึ่งจะเห็นเป็นรอยทางไหล
- อุณหภูมิบ่อชุบต่ำเกินไป ทำให้สังกะสีมีความหนืดมากขึ้น และความสามารถในการไหลตัวของสังกะสีจะต่ำลง จึงทำให้สังกะสีส่วนเกินไหลกลับลงบ่อชุบไม่ทัน ส่งผลให้สังกะสีส่วนเกินตกค้างอยู่เกิดเป็นรอยทางไหลของน้ำสังกะสี
- ความล่าช้าของการระบายน้ำสังกะสีส่วนเกินออกจากรูสลักเกลียว ข้อต่อ ข้อพับ รอยตะเข็บ
- ในระหว่างการยกชิ้นงานขึ้นจากบ่อ ชิ้นงานมีการซ้อนทับกัน ซึ่งจะไปขัดขวางการไหลกลับลงบ่อของน้ำสังกะสีส่วนเกิน
ฟลั้กติดชิ้นงาน
ส่วนใหญ่เกิดจากการชุบที่ใช้ฟลั้กซ์เปียก ซึ่งจะมีชั้นของแอมโมเนียมคลอไรด์ หรือชั้นฟลั้กซ์ลอยอยู่บนผิวหน้าของบ่อชุบ โดยชิ้นงานที่จะนำมาชุบจะผ่านชั้นของฟลั้กซ์เปียก ก่อนที่ผ่านน้ำสังกะสีหลอมเหลว นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดฟลั้กติดชิ้นงาน อาจมาจาก ฟลั้กเก่าที่ค้างอยู่ไหม้และติดไปกับชิ้นงาน หรือ ผิวหน้าของเหล็กไม่สะอาด มีเศษจาระบีหรือสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ติดค้างอยู่
Ash ติดชิ้นงาน
Zinc ash เป็น Oxide ฟิล์มที่ลอยอยู่ลอยอยู่บนผิวหน้าของบ่อชุบสังกะสีซึ่งเกิดจากสังกะสีทำปฏิกิริยากับออกซิเจน สาเหตุอาจเกิดจาก
- การกวาด Ash ที่ไม่ทั่วถึง ทำให้ Ash ติดไปกับผิวชิ้นงานในขณะที่ยกชิ้นงานออกจากบ่อได้
- การยกชิ้นงานออกจากบ่อชุบด้วยความเร็วที่ช้า อย่างไรก็ตาม Ash ที่ติดบนชิ้นงาน ไม่ส่งผลกระทบต่ออายุการใช้งานของงานชุบแต่อย่างใด
ผิวชุบด้าน / หมอง
- มักเกิดจากความหนาของชั้นโลหะผสมที่หนามากจนทำให้เห็นเป็นผิวคล้ำปริมาณซิลิกอนในเนื้อเหล็ก ที่ทำให้ผิวชุบมีสีด่างดำ เนื่องจากซิลิกอนที่อยู่ในเนื้อเหล็กจะเป็นตัวกระตุ้นให้เหล็กทำปฏิกิริยากับสังกะสีได้มากขึ้น ดังนั้นหากต้องการผิวชิ้นงานที่สดใส ควรมีซิลิกอนน้อยกว่า 0.05% หรืออยู่ระหว่าง 0.15% - 0.25%
- ความหยาบของผิวงานก่อนชุบ อาจเกิดจากการล้างงานในบ่อกรดนานเกินไป ทำให้กรดกัดเนื้อเหล็กส่วนที่ดี จนผิวของชิ้นงานหยาบมาก เมื่อนำชิ้นงานไปชุบสังกะสีจึงออกมาหนาและหมองคล้ำ ดังนั้นจึงควบคุมความเข้มข้นของกรดให้อยู่ระหว่าง 12 - 14%
- อุณหภูมิสูงเกินไป ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผิวชุบหมองคล้ำได้ ควรควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม อยู่ระหว่าง 445 - 455 องศา
อย่างไรก็ตาม ความหมองคล้ำนี้ ไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติในการต้านทานการผุกร่อน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วผิวชุบที่หมองคล้ำมักจะหนากว่าผิวชุบอื่น ซึ่งทำให้มีความต้านทานการผุกร่อนที่ยาวนานกว่า หรืออายุการใช้งานยาวนานกว่านั้นเอง